วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

3 โมเดล "สร้างสุข" คนทำงาน


เรื่องราวดีๆ แต่ยังไม่มีใครรวบรวมเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดให้องค์กรรุ่นหลัง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจับมือกับคณะมนุษยศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศึกษาถอดรหัสความสุขตามโมเดล "NIDA Model of Happy Workplace" องค์กรแห่งความสุขและถือโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ในงาน Happy workplace forum 3


แม้จะยังไม่ตกผลึกดี แต่ก็พอมองเห็น "แก่น" ที่ถูกแยกออกเป็น 3 รูปแบบ จากบทเรียน 100 องค์กร


สุขแรก สุขจากพฤติกรรมของคนในองค์กร สุขสอง ความสุขเกิดจากพฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนา และสุข ทางเลือก


โมเดลแรก..มองในมุม "พฤตกรรมศาสตร์" สิ่งที่ให้คนในองค์กรมีความสุขเกิดจากตัว "คน" ทำงานในองค์กร และเกิดจากตัว "องค์กร" เอง


รศ.ดร.วิชัย อุตสาหจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการถอดรหัส 100 องค์กรหลากสุขบอกว่า ความสุขในมุมพฤติกรรมศาสตร์ เกิดจากปัจจัยส่วนบุคคล คือ การรับรู้ความสุขของตัวเองคนทำงานเอง ซึ่งบางวันอาจมีความสุขมาก บางวันอาจมีความสุขน้อย


ความสุขของคนทำงาน จึงเริ่มต้นจากที่ตัวเองมีความสุขก่อน


"ปัจจัยที่ทำให้คนเรามีความสุข หรือไม่มีความสุข อยู่ที่พื้นฐานความคิดของตัวเราเองกำหนด ไม่ได้ไปผูกติดอยู่ปัจจัยภายนอก ความสุขแท้จริง จึงมาจากพื้นฐานความคิด ความเชื่อทัศนคติ"


แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้คนทำงานมีความสุขหรือไม่อีกอย่างคือ ตัวองค์กร เพื่อร่วมงาน ตัวเนื้องาน สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศการทำงาน


รศ.ดร.วิชัย บอกว่าทั้งปัจจัยส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว รูปแบบการใช้ชีวิต สังคม ครอบครัว และปัจจัยสิ่งแวดล้อมในองค์กร ล้วนมีผลต่อความสุขของคนทำงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน


แต่ปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ควบคุมยาก คนทำงาน จึงต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้


วิธีวัดความสุขของคนทำงาน จึงต้องรู้จักหมุนเวียนปัจจัยต่างๆ ว่า อะไรมีความสุข และต้องทำความเข้าใจ


"โมเดลความสุขของผม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ตัวเข้ามาประกอบ การที่คนทำงานจะมีความสุขในองค์กรได้ จึงต้องเรียนรู้การหมุนความสุขให้กับตัวเราอยู่ตลอดเวลา"


ในขณะที่ โมเดลความสุขเกิดจากพฤติกรรมการเรียนรู้และพัฒนา นั้น ผศ.ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร หัวหน้าวิจัยของโครงการถอดรหัส 10 องค์กรหลากสุข บอกว่าหลักคิดของโมเดลนี้ จะเป็นแบบบ้านๆ หรือ "เป็น-อยู่-คือ" ที่จะทำให้พนักงานมีความสุขได้


"เป็น" คือ ตัวพนักงาน เมื่อเข้ามาอยู่ในองค์กร จะต้องแสดงความเป็น "ตัวตน" ที่แท้จริงออกมาก่อน ไม่ใช่ Fake (ปลอม) เพราะถ้าปลอมๆ สักพักความเป็นตัวตนที่แท้จริงก็จะเผยออกมา


ฉะนั้น ต้องเริ่มจากองค์กร ที่คัดเลือกคนที่สะท้อนตัวตนของคนนั้นจริงๆ เพื่อให้ได้คนที่มีใจตรงกับงาน

นอกจากนั้น คนทำงานต้อง "เป็น" สุขทางใจ คือ จะต้องมองอะไรในเชิงบวกทั้งหมดและมองเป็นการเรียนรู้ และเป็นคนที่เต็มศักยภาพ เรียนรู้งานได้ ซึ่งจะทำให้เป็นที่มาของผลงานในอนาคต


เมื่อนั้นเขาจะเป็นคนที่ครอบครัวและสังคมพอใจ ภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรที่ดี อย่างเช่น พ่อแม่จะภูมิใจที่ลูกได้ทำงานกับบริษัท แพรนด้า เป็นต้น


"อยู่" คือ พื้นฐานความเป็นอยู่ของพนักงานต้องดีก่อน มีค่าจ้างที่เหมาะสม มีที่พักอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน อยู่ในองค์กรที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี อยู่ในตำแหน่งการงานที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ จะทำให้ตำแหน่งงานมีคุณค่าต่อคนทำงาน


"หลายองค์กร อย่างเช่น โตโยต้า เซ็นทรัล รีเทล พนักงานบอกว่าตื่นเช้าขึ้นมาอยากออกมาทำงานเพราะมีความเอื้ออาทรต่อกันในที่ทำงาน หรือ รักห่วงใยในผู้นำ เช่น กรณีบ้านท้องทราย จ.สุราษฎร์ธานี หรือ ร้านเจ๊หมวย ที่ผู้นำองค์กรมีความห่วยใยพนักงาน ดูแลเอาใจใส่ มองทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน"


"คือ" เขาคือ ผลงานขององค์กร เขาทำสำเร็จต้องชื่นชม เพราะพนักงานคือความหวังขององค์กร เพื่อวันข้างหน้าเขาจะนำพาองค์กรไปได้ และคือภาพลักษณ์ขององค์กร


สรุปโมเด็ล "เป็น อยู่ คือ" จะเกิดได้ผู้นำต้องเป็นที่รัก ศรัทธา ให้เกียรติ ให้โอกาส ให้พัฒนาเรียนรู้ต่อเนื่อง


และโมเดลสุดท้าย "สุขทางเลือก" หรือ สร้างสุขตามบุลลิกองค์กร


โมเดลนี้ แยกมุมมองออกเป็น 2 ระดับ


ระดับแรก องค์กรนั้นมีสุขพื้นฐานมาก่อนแล้ว เมื่อคืนสุขๆ มารวมตัวกัน ทำให้องค์กรสุขไปด้วย

"การวางรากฐานความสุขของคน จึงต้องกินอิ่มนอนหลับ ไม่เป็นทุกข์ โดยมีปัจจัยการดำรงชีพที่ดีมีสวัสดิการ และความมั่นคงรายได้ก่อน ก็จะทำให้เมื่อทำงานมีความสุข"


เมื่อคนทำงานมีรากฐานการดำรงชีวิตที่ดี องค์กรเองก็มีทางเลือกในการสร้างสุขที่หลากหลาย ขึ้นกับลักษณะขององค์กรนั้นๆ ซึ่งจะมุ่งเน้นสร้างความสุขที่ต่างกัน


"องค์กรแต่ละแห่งมีรูปแบบ ระบบและการมุ่งเน้นที่ต่างกันจึงต้องเลือกทางเลือกสร้างสุขให้เหมาะสมกับบุคลิก หรือ "คาแรกเตอร์" ของผู้นำและองค์กร จึงจะทำให้คนในองค์กรมีความสุขได้"


สุขทางเลือกยังแตกรูปแบบได้อีก 3 รูปแบบ คือ องค์กรมุ่งเน้นสร้างสรรค์ การสร้างองค์กรยั่นยืน และเน้นอยู่บนกระแสหลัก หรือ สร้างสุขแบบเรียบง่าย


"องค์กรสร้างสรรค์" เน้นมอบอำนาจ สร้างระบบที่ยืดหยุ่นให้เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเน้นผลรับการทำงาน มุ่งเน้นบรรยากาศทำงานสร้างสรรค์ ไม่เน้นความเป็นทางการ ลดระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้คนเอาไลฟ์สไตล์ออกมาทำงาน ให้เกิดสีสัน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มองค์กรมากที่สุด


ขณะที่ "องค์แบบยั่งยืน" จะมุ่งเน้นสร้างธุรกิจที่ดีของผู้ถือหุ้นรอบด้าน ไม่โฟกัสที่การเติบโตแบบอัตราเร่ง แต่จะประเมินศักยภาพองค์กรและตัวบุคคลเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะไม่กดดันคนทำงานมาก จะเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นคุณธรรมสูง สร้างผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับ สร้างคนดีคืนสู่สังคม เป็นต้น


ส่วนองค์กรสร้างสุขแบบเรียบง่าย จะสร้างสุขตามแบบกระแสหลักที่ทำกันอยู่ โดยเน้นการเติบโตขององค์กรและความมั่นคง โฟกัสที่งานเป็นหลัก เพื่อสร้างความภูมิใจให้แก่องค์กร


การสร้างความสุขมีหลากหลาย แต่ก่อนที่จะเลือกรูปแบบใด องค์กรต้องสร้าง Common Happiness ก่อน ค่อยมาเลือกรูปแบบองค์กรสร้างสุข


เพราะการสร้างความสุขให้แก่องค์กร ไม่ได้มีโมเดลเดียวที่ดีที่สุด หรือ The One Best Way แต่การสร้างความสุขหลากหลายรูปแบบ การที่จะตอบสนองความสุขให้แก่องค์กรได้จะต้องเลือกทางเลือกหรือรูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรตัวเอง


ทั้งหมดนี้คือ แก่นของความสุขแต่จะสุขแบบไหน อย่างไร ขึ้นกับองค์กรที่จะต้องตามหาสุขแท้ในแบบฉบับตัวเอง เพื่อสร้างสุขให้ยั่งยืน


"องค์กร" มากมายที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ จนประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ผลักดันและมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ "ความสุข" ของพนักงานภายในองค์กร


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น